วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

สงครามชีวิตโอชิน


สงครามชีวิตโอชิน

.....4 เมษายน1983 ละครโทรทัศน์เรื่อง Oshin ของสถานีโทรทัศน์ของ NHK ได้ออกอากาศวันแรก และจบลงโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1984 จำนวนทั้งสิ้น 297 ตอน ความยาวตอนละ 15 นาที (รวมแล้วน่าจะประมาณ 75 ชั่วโมง) ช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีดังกล่าว กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์-ปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในวงการโทรทัศน์ Oshin ประสบความสำเร็จท่วมท้น ยอดจำนวนคนดูสูงลิ่วเป็นสามเท่าตัวของรายการปกติที่ได้รับความนิยม (เฉลี่ยโดยรวมตกราว ๆ 52.6% ของผู้ชมทั้งหมด และเฉพาะเพียงแค่ตอนเดียวที่ฮิตสุด เรตติ้งพุ่งทะยานถึง 62.9 %) ความสำเร็จของ Oshin ยังคงเป็นสถิติสูงสุดของละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

.....นับจนถึงปัจจุบัน Oshin ออกอากาศไปแล้ว 59 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งมีเรตติ้งความนิยมสูงเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่นำละครชุดนี้ไปเผยแพร่ ส่วนอันดับหนึ่งคือ อิหร่าน และอันดับสามคือ อิรัก หากจะกล่าวว่า Oshin เป็นที่ชื่นชอบประทับใจสูงสุดในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก็ไม่ผิดจากความจริงนัก ยิ่งไปกว่านั้นตัวเอกของเรื่องคือ โอชิน ได้กลายเป็นวีรสตรีประจำใจของผู้หญิงอิสลามจำนวนไม่น้อย รวมทั้งเป็นตัวละครที่ผู้ชมทุกเพศทุกวัยจากทั่วโลกพากันหลงรัก ความโด่งดังของละครโทรทัศน์ชุดนี้ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า The Oshin Effects เช่น ที่เมืองยามางาตะบ้านเกิดของโอชินตามท้องเรื่อง (เมืองเดียวกับที่ปรากฎเป็นฉากหลังในหนัง Swing Girls) “ข้าวปั้นโอชิน” และ “เหล้าสาเกโอชิน” กลายเป็นของที่ระลึกอันมีชื่อเสียงโด่งดัง, บริเวณท่าจอดเรือริมฝั่งแม่น้ำโมงามิ (บ้านเกิดของโอชินอยู่ตอนต้นแม่น้ำสายนี้) ซึ่งเคยมีชื่อเรียกกันว่า Basho Line ได้รับการขนานนามใหม่เป็น Oshin Line, เรื่องราวของโอชินได้รับการนำไปเผยแพร่ต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหนังการ์ตูน หนังสือการ์ตูน ละครเวที รวมทั้งในบทเพลง, นักการเมืองหลายคน พูดถึงแนวความคิดทางเศรษฐกิจโดยอิงกับ “ปรัชญาวิธีคิดแบบโอชิน” รวมทั้ง “มาตรการประหยัดแบบโอชิน” (ซึ่งมีหลักการและรายละเอียดใกล้เคียงกับเศรษฐกิจแบบพอเพียง), นักกีฬาซูโม่ชื่อดังทากาโนซาโตะ ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจถึงขั้นเปลี่ยนชื่อตนเองเสียใหม่เป็นโอชิน โยโกซุนา ฯลฯ

.....Oshin เป็นผลงานการเขียนเรื่องและบทละครโทรทัศน์ของฮาชิดะ ซุงาโกะ (ชื่อจริงอิวาซากิ ซุงาโกะ) ว่ากันว่า เธอสร้างตัวละครโอชินขึ้นมาโดยอิงจากประวัติชีวิตมารดาของคาซุโอะ วาดะ (นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียง เจ้าของกิจการค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ต ที่มีสาขาแพร่หลายในญี่ปุ่นและเอเซีย ในนามของ “กลุ่มเยาฮัน”) และอีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งยึดถือเป็นหลักในการลำดับเค้าโครงเรื่อง) มาจากการรวบรวมจดหมายนิรนามของผู้หญิงจำนวนมากในยุคเมอิจิ ซึ่งเขียนบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตอันทุกข์รันทดที่ยากจะบรรยาย ก่อนจบชีวิตตนเอง